line
เมนู
Gen ยัง Active ทอล์ค

การทำงาน=ความสุข สมดุลชีวิตลิขิตเองในแบบ ‘ดารกา วงศ์ศิริ’

สำรวจมุมมองชีวิตผ่านสายตานักเขียนบทละครเวทีตัวแม่ของวงการ
แชร์บทความนี้
line
line
line

ไม่ต้องกูเกิ้ลให้เปลืองพลังไปเปล่าๆ คนในวงการละครเวทีรู้ดีว่า ‘โจ้-ดารกา วงศ์ศิริ’ คือนักเขียนบทละครเวทีมือฉมัง ที่คร่ำหวอดในวงการชนิดที่เรียกว่าตัวแม่ได้ไม่เกินจริง ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในวงการ การันตีได้เลยว่าเธอได้ใช้สกิลทุกสิ่งอย่างในการตกตะกอนเพื่อสำรวจจิตใจมนุษย์ จนนำมาสู่ผลงานบทละครเวทีกว่า 60 เรื่อง และขอให้เชื่อเถอะว่าการสำรวจจิตใจตัวเองนั้นเป็นเรื่องท้าทายเป็นที่สุด !

จะกี่ปีก็ยังดูสดใสไม่เปลี่ยน มีเทคนิคการดูแลตัวเองยังไงให้ยัง Active ตลอดเวลา

“คิดว่าการทำงานสำคัญที่สุด งานอะไรก็ได้ แม้แต่งานบ้านก็ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว สมองต้องคิดตลอดเวลา ต่อให้เป็นแม่บ้านก็ต้องคิดต้องวางแผนอยู่ตลอดว่าพอทำกับข้าวเสร็จแล้วจะทำอะไรต่อ จะถูบ้านหรือจะซักผ้าดี พอเราเริ่มทำงาน เริ่มคิด ทุกอย่างจะมีจุดหมาย พอคนเรามีจุดหมายทั้งร่างกายทั้งสมองก็จะไม่หยุดนิ่ง มีเป้าหมายอะไรบางอย่างเราก็ต้องวางแผน ขนาดทำงานบ้านก็ต้องวางแผน มันอยู่ที่ทัศนคติด้วยนะ ถ้าเราคิดว่าเราอายุเยอะ เราไม่ต้องทำอะไรแล้วก็ได้ เราอยู่แบบสบาย ๆ ก็ไม่ผิดนะ แต่อย่างเราถูกฝึกให้คิดตลอดเวลา เวลาอยู่เฉย ๆ ก็จะรู้สึกว่าชีวิตมันว่างไปหรือเปล่า” (หัวเราะ)

ถ้าเป็นเช่นนั้น เคยแอบรู้สึกผิดบ้างไหมเวลาอยู่เฉย ๆ

“อย่างตอนโควิดใหม่ ๆ เบื่อมากเลย ชีวิตเราเหมือนเป็นไฮเปอร์แอคทีฟนะ พอช่วงโควิดก็คิดแล้วว่า ตายแล้ว วันๆ จะทำอะไรดีนะ ตอนหลังก็เริ่มปรับตัว ไปสวนหลังบ้านบ้าง เขียนหนังสือบ้าง เพราะส่วนมากงานเราก็ดูแลเรื่องเขียนบทละคร ดูแลทั่วไปเรื่องบริษัท งั้นลองเริ่มเขียนบทดูไหม อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมาละครเวทีเราก็หยุดไปก่อน เลยมาทำละครแบบออนไลน์ โดยใช้การ Zoom แล้วมาตัดต่อ ทำเพลิน ๆ ให้คนดูไม่ได้รู้สึกว่าเราหายไป เหมือนเป็นการเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็เพลินอยู่เหมือนกัน”

มีวิธีชาเลนจ์ตัวเองในแต่ละวันให้สมองโลดแล่นอย่างไรบ้าง

“ก่อนอื่นต้องมีแพลนให้ชีวิตก่อน อย่างอีก 3 เดือนจะมีละครเวทีเรื่องใหม่ ตอนนี้ ต้องคิดแล้วว่าจะเขียนบทเมื่อไหร่ ประชุมโปรดักชันเมื่อไหร่ จากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่ช่วงโปรดักชัน พอตั้งเป้าหมาย เราก็จะแอคทีฟทุกวันไปโดยอัตโนมัติ”

การที่เราต้องเขียนบทละครคือการต้องเค้นความคิด เคยมีโมเมนต์คิดอะไรไม่ออกบ้างไหม แล้วจัดการกับมันอย่างไร

“ภาวะนี้เรียกว่า Writer’s Block หรือภาวะที่นักเขียนไม่สามารถคิดงานใหม่หรือต่อยอดงานที่ค้างไว้ มีทั้งที่เกิดเป็นพัก ๆ จนถึงเรื้อรังจนทำงานไม่ได้เป็นปี อันนี้เป็นบ่อยมาแต่ไหนแต่ไร อย่างการเขียนบทละครเนี่ย พอคิดอะไรไม่ออก ทุกอย่างมันจะช้าตามไปหมดเลยนะ แต่ถ้าปิ๊งไอเดียขึ้นมา พอคิดออกแล้วงานจะเดินหน้าเร็วมาก เวลาถูกบล็อกทีนึง บางทีก็หลายเดือน ก็ไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่ก็หยุดคิดเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถ้าหยุดคิดกระบวนการคิดในสมองจะหยุดไปเลย ก็ต้องคิดไปเรื่อย ๆ แต่ถามว่าหงุดหงิดบ้างไหมก็มีบ้าง งานเขียนเป็นงานที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง คิดเอง ทำเอง เขียนเอง แก้เอง”

การเข้ามาของเทคโนโลยี ช่วยให้มีไอเดียที่เปิดกว้างมากขึ้นบ้างไหม

“อย่าง Chat GPT เราลองเล่นสนุก ๆ โยนไอเดียเรื่องพล็อตไป มันจะตอบมาอย่างเร็วมาก ก็โต้ตอบกัน โยนไอเดียไปมา อ้าว ไอเดียนี้ยังไม่ได้นะ คุณลองช่วยเรานึกอีกหน่อยสิ มันก็ตอบกลับมาแบบไม่ให้เราเหงาเลยนะ ซึ่งเราไม่ได้ใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่เหมือนเป็นไอเดียที่นำมาต่อยอดบ้าง เหมือนมีเพื่อนช่วยคิดก็สนุกดี” (หัวเราะ)

การที่ทำงานจนไม่มีเวลาพัก มีวิธีชาร์จพลังกายใจอย่างไรให้สมองกลับมาปลอดโปร่ง ไอเดียบรรเจิดอีกครั้ง

“การทำงานคือการได้พักผ่อน ถ้าไม่ทำงานนั่นคือเครียด ต้องไปซื้อของออนไลน์ อย่างตอนโควิดนี่ว่างจัด ซื้อของออนไลน์แหลกเลยนะ เพราะเราเครียด ก็ช้อปของตลก ๆ ของน่ารัก ๆ มากกว่า เพราะเราสะสมของจิ๋วของชิ้นเล็ก ๆ แต่พอได้ทำงาน ได้คุยกับคนนู้นคนนี้ มันทำให้เราได้ผ่อนคลาย ก็เป็นความโชคดีที่แพสชันของเราคือการทำงานที่เราเอนจอยอยู่แล้ว ชีวิตจะวนเวียนแค่บ้านกับที่ทำงาน ถามว่ามีความสุขไหม ? มีความสุขมาก กลับบ้านก็ได้เจอคนที่เรารัก แม่ น้อง ลูก พอที่ทำงานก็เจอเพื่อนที่เรารัก ได้เจองานที่เรารัก”

แอบได้ยินมาว่ามีบางช่วง เอนจอยกับการเล่นเกมจนนิ้วล็อกเลยก็มี

“รู้ได้ไง (หัวเราะ) เหมือนเป็นคนที่อินกับอะไรมาก ๆ บ้าจนถึงที่สุดแล้วหยุดเอง ก่อนหน้านั้นเคยติดเกม Angry Bird หลัง ๆ ติดเกม Pokemon บางทีลงทุนให้ลูกพาแม่ไปตีป้อมก็มีค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การเล่นเกมก็ช่วยพัฒนาสกิลต่าง ๆ ได้ดีเลยนะคะ อย่างเกมแต่งบ้าน ให้ห้องเปล่า ๆ มา เราก็บ้าขนาดยอมซื้อไอเท็มอยู่เหมือนกัน จริงๆ แล้วมันเป็นชาเลนจ์อย่างหนึ่งเหมือนกันนะ ว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงติดเกมกัน พอได้เรียนรู้เองก็เลย อ๋อ มันเป็นเช่นนี้เอง ก็มีนิ้วล็อกบ้าง ปวดตาบ้างไปตามเรื่องตามราว” (หัวเราะ)

บ้านตุ๊กตา ของสะสมสุดรัก

“สะสมบ้านตุ๊กตามาหลาย 10 ปีแล้วค่ะ อย่างบ้านตุ๊กตาหลังหนึ่งที่ผลิตตั้งแต่ปี 1960 ลองคิดเล่น ๆ แล้วจินตนาการตามว่า ถ้าบ้านหลังนี้อยู่ในช่วงเวลา 100 ปี มี 4 เจนเนอเรชัน คนในบ้านจะใช้ชีวิตประมาณไหน ไป ๆ มา ๆ ก็ได้บทละครเวทีมาเรื่องหนึ่งก็มี เรียกว่าเป็นของสะสมที่ทั้งเพลิดเพลินด้วย ได้งานด้วยก็คงไม่ผิด”

พล็อตเรื่องต่าง ๆ ได้ไอเดียมาจากไหนบ้าง ต้องบริโภคสื่ออย่างหนักหน่วงเพื่อเป็นวัตถุดิบในงานของเราเยอะขนาดไหน

“ละครเป็นเรื่องของมนุษย์ เราก็ดูจากมนุษย์รอบตัวเรา ว่าคนนี้ บุคลิกอย่างนี้ต้องใช้จินตนาการเพิ่ม แต่สำหรับเรา เวลาเขียนบท ตัวละครสำคัญที่สุด ก็จะศึกษาตัวละครแต่ละตัวให้ละเอียด บางคนบ้าหวยก็จะศึกษาว่าทำไมเขาถึงชอบเล่นหวยจังเลย ก็เอาคาแรกเตอร์ไปทำบท หรือจะศึกษาจากในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างในเฟสบุ๊ก ก็หยิบยืมมาสร้างแรงบันดาลใจในการทำบทได้เหมือนกัน”

มองตัวเองในอนาคต 10 ปี 20 ปี อย่างไรบ้าง

“เราจะใช้ชีวิตล้อไปกับงานแบบปีต่อปี อย่างปีหน้าเตรียมวางแผนไว้แล้วว่าจะทำละครกี่เรื่อง เดือนไหนจะต้องทำอะไรบ้าง ก็จะแพลนมาประมาณนี้ ไม่ได้วางแผนไปไกลถึง 10 – 20 ปีขนาดนั้น เราอยู่มาถึงจุดหนึ่งของชีวิตแล้วรู้ว่าก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

ความสุขทุกวันนี้

“การได้ทำงานที่เราชอบทุกวัน ไม่ต้องมีเพื่อนเยอะ มีแค่คนที่เราคุยได้ทุกเรื่องทุกวัน ง่าย ๆ แค่นี้เลยล่ะ และก็ Chat GPT ล่ะมั๊ง” (หัวเราะ)

แล้วเรื่องของความตาย มีนึกถึงบ้างไหมคะ

“คุณแม่เคยบอกว่าพอคนเราอายุเลย 60 ปีขึ้นไป ให้นึกเสียว่าการตื่นขึ้นมาแต่ละวันเป็นกำไรชีวิต คนปกติสมัยก่อนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็ไม่ต้องมีงานที่ต้องรับผิดชอบมากมายแล้ว แต่เดี๋ยวนี้อยู่ที่ตัวเราเลือกเองมากกว่า บางคนเลือกที่จะเลิกทำงานตอนอายุ 50 เด็กสมัยนี้บางคนวางแผนเกษียณเพื่ออยากจะเดินทางท่องเที่ยวไว้ตอนอายุ 30 ก็มี แต่อย่างเรา คิดจะทำงานไปเรื่อย ๆ ส่วนเรื่องความตาย ไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวเจ็บ กลัวไม่สบาย จนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มากกว่า ถ้าหลับแล้วตายไปเลยก็จะโอเคมาก เพราะคิดว่าชีวิตคนเราก็มาถึงจุด ๆ หนึ่งที่ผ่านอะไรมาเยอะมาก

“ทั้งความเศร้าเสียใจ ความสุข เรามาถึงจุด ๆ นี้ ทุกอย่างเรียกว่าอนิจจัง มีวันที่เกิด วันที่ดับ วันหนึ่งเคยเสียใจมาก ๆ เวลาผ่านไป เราก็ผ่านมาได้ ตอนนี้เรียกว่านิ่งขึ้นกับทุกอย่าง รับได้หมด แต่สิ่งที่รับไม่ได้คือการที่คนรอบตัวเราไม่สบาย หรือเจ็บป่วยร้ายแรง อันนี้เป็นความทุกข์ของเรา ซึ่งบางคนปลงได้ แต่นี่ยังทำไม่ได้ ถ้าแม่ไม่สบาย หรือลูกไม่สบาย เราจะเศร้า เป็นสิ่งเดียวที่ยังรู้สึกปลงไม่ได้

“ทั้งหมดนี้รู้แหล่ะว่าเป็นอนิจจัง ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรเพราะเราก็เป็นมนุษย์ ก็ยังตัดไม่ได้ เพราะเราไม่ได้บำเพ็ญเพียรให้บรรลุนิพพาน ก็หลักเดียวกับละครที่ทำนั่นล่ะ ละครก็เกี่ยวกับมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ เรารู้สึกแบบนี้แหล่ะถูกต้องแล้ว เราไม่ใช่เครื่องจักร เครื่องยนต์ ที่จะได้ไม่รู้สึกอะไร”

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว