line
เมนู
Gen ยัง Active ทอล์ค

ให้แพสชันนำทางไป ‘เกล้ามาศ ยิบอินซอย’ กับชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยศิลปะ

เรียนรู้วิธีคิด และใช้ชีวิตให้เปี่ยมพลังฉบับ ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ’
แชร์บทความนี้
line
line
line

ชีวิตคนเราต้องขับเคลื่อนด้วยแพสชันอันแรงกล้า เช่นเดียวกับ คุณเหมียว-เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ ที่สวมหมวกสองใบในฐานะผู้รับหน้าที่ดูแลพระราชนิเวศน์ฯ มานานกว่า 18 ปี และหมวกใบที่สองในฐานะทายาทสายตรงของ มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยม พ.ศ. 2494 สาขาจิตรกรรม คนแรกของประเทศไทย

ชีวิตที่โอบล้อมด้วยศิลปะในแบบคุณเหมียวเป็นแบบไหน?

“ชอบงานศิลปะ แต่ไม่ได้อยากเป็นศิลปินค่ะ” คุณเหมียวเริ่มบทสนทนาด้วยน้ำเสียงสดใสเมื่อเราถามถึงไทม์ไลน์ชีวิตที่เติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ “เหมียวชอบดูงานศิลปะ สนุกที่จะได้ดูงานไปเรื่อย ๆ ชอบช่วงเวลาที่ได้ดูงานคุณย่า ดูว่าคุณย่าติดรูปอย่างไร ทำให้พื้นที่นี้ดูพิเศษ ทำให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น ทำให้บ้านมีบทสนทนาระหว่างสิ่งต่าง ๆ เป็นความเชื่อมโยงที่น่าสนใจ อีกอย่างเหมียวชอบประวัติศาสตร์ อยากทำเรื่องศิลปะ อยากพูดคุยกับผู้คนผ่านงานศิลปะ ซึ่งก็คืองานพิพิธภัณฑ์นั่นเอง

“ตอนนั้นเมืองไทยไม่มีวิชาพิพิธภัณฑ์ให้เรียน แต่สิ่งที่เหมียวคิดว่าจำเป็นมากคือคุณต้องเข้าใจพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ ให้ชัดเจน เลยเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลงานของคุณย่า เรียนมาทางนี้ตลอด ในที่สุดก็มาเรียนเรื่องพิพิธภัณฑ์ที่ New York University (NYU) ที่นิวยอร์ก” นั่นคือที่มาที่ไปฉบับย่อที่คุณเหมียวแชร์ให้เราฟัง

ชีวิตที่อยู่กับมฤคทายวันเกือบ 20 ปี ยากง่ายขนาดไหน ?

“เหมียวไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะร่วมสมัยมานานมากแล้ว เหมียวไปทำมฤคทายวันเกือบ 20 ปีนะคะ เรามีเป้าหมายคือทำอย่างไรให้ที่นี่สามารถเป็นสถาบันเพื่อการเรียนรู้ของสังคมของทุกคนได้ ทำอย่างไรให้เราสามารถเก็บรักษามรดกในฐานะที่เป็นองค์ความรู้จริง ๆ ทำอย่างไรให้เราไม่สร้างความเชื่อผิด ๆ หน้าที่ของเราคือเป็นแพลตฟอร์มที่จะทำให้งานศิลปะ หรือในแง่ของมฤคทายวันคือมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม เราเป็นตัวกลางที่ต้องไม่มีตัวตนให้ใครเห็น เหมียวภูมิใจมากว่า เราทำมฤคทายวันมา 18 ปี ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าเหมียวเป็นคนรันมฤคทายวัน หรือเหมียวทำงานที่มฤคทายวันเพราะมันไม่เคยเป็นเรื่องของเหมียว มันเป็นเรื่องของมฤคทายวัน identity ของมฤคทายวันคือตัวมฤคทายวันเองและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ identity ของเหมียวเลยสักนิด

“ทางมฤคทายวัน เหมียวมีผู้ร่วมงานที่มหัศจรรย์มาก และคนที่เข้ามาสนับสนุนที่เราคาดไม่ถึงว่าเขาจะทุ่มเทขนาดนั้น ตัวเหมียวเองทำงานไม่ได้รับเงินเดือน เพราะตั้งใจไว้แล้วว่างานพวกนี้เมื่อไหร่ที่รับเงินเดือน เมื่อไหร่ที่มีนายจ้าง จะถูกทำให้ไปในทิศทางตามนายจ้างซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตรงนี้เหมียวมั่นใจในตัวเองว่าทิศทางที่เหมียววางไว้ เรื่องที่เหมียวทำน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมสำหรับมฤคทายวันในยุคนี้และพร้อมที่จะต่อยอดไปสำหรับมฤคทายวันในยุคหน้าได้ค่ะ”

ย้อนกลับมาในส่วนที่ดูแลงานคุณย่า มีความท้าทายในแง่มุมไหนบ้าง ?

“ความท้าทายมีเยอะมาก บางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่เชี่ยวชาญเลย อย่างในยุคที่ทำ About Café เหมียวเป็นเด็กสปอยเลยเพราะพ่อเป็นแบคอัพตลอด จะทำอะไร จะใช้เงินแค่ไหน คุณพ่อสนับสนุนเต็มที่ ยิ่งครอบครัวสนับสนุน เรายิ่งต้องระวัง ข้อดีคือการทำให้เราคิดแล้วคิดอีก หลาย ๆ ครั้งที่รู้ตัวว่าเรารู้ไม่พอ เราต้องหาความรู้เพิ่มเติม จะเลือกคุยกับใคร อ่านหนังสือเล่มไหน จะเทคคอร์สอะไรเพิ่ม เหมือนเป็นการทำการบ้านอยู่ตลอด

“ทุกครั้งที่หลายคนพูดว่า เราทำอะไรเยอะแยะไปหมด ทำมาขนาดนี้พอแล้วไหม เหมียวจะรู้สึกว่ามันมีพอด้วยเหรอ เหมียวคิดว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นเพราะมิวเซียมมันมีการเคลื่อนไหว ล้อกับสังคมไปตลอดเวลา คนเราก็เติบโตไปทุกวัน แก่ลงไปทุกวัน เหมียวน่าจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองที่ได้รับมาให้มีประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเรื่องของที่บ้านเองก็ยังอลหม่านอยู่ค่ะ เพราะยังหาที่ลงให้งานคุณย่าไม่ได้ ก็เลยจะค่อย ๆ ทำเป็น Mobile Exhibition”

เห็นว่ากำลังเตรียมตัววางแผนส่งต่องานสำหรับอนาคตแล้วด้วย ?

“ล่าสุดเพิ่งคุยกับเพื่อนว่ากำลังจะเริ่มทำโปรเจกต์ Mexit คือเหมียวเตรียมจะ exit จากหลาย ๆ โปรเจกต์ที่ทำ (คุณเหมียวตั้งชื่อเพื่อให้ล้อไปกับ Brexit มาจากคำว่า Britain+Exit หมายถึงสหราชอาณาจักรลาออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป) คิดถึงกระบวนการทั้งหมดที่อังกฤษถอนตัวออกจาก EU อยู่ ๆ จะวางมือวันนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคือความรับผิดชอบที่เหมียวต้องเตรียมตัวให้กับ 20 ปีที่ทำงานที่มฤคทายวัน น้อง ๆ ในทีมจะไปต่อกันยังไง เงินทุนจะเป็นยังไง มฤคทายวันจะมั่นคงไหม หลังจากเราไม่อยู่ ส่วนเรื่องของคุณย่า ถ้าเหมียวไม่อยู่แล้ว เราจะวางแผนอย่างไร ใครจะดูแลต่อ จะทำอย่างไรให้รอดต่อไปให้ได้ อันนี้ Mexit ของเหมียวจะเริ่มตอนอายุ 60 สำหรับที่มฤคทายวันเองและงานของคุณย่า ซึ่งเป็นงานของครอบครัวด้วย”

เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่าอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้า เราจะเป็นเกล้ามาศ ในเวอร์ชั่นไหน ?

“ปีหน้าเหมียวจะอายุ 60 แล้วค่ะ ยังนึกไม่ออกเลยว่าคนอายุ 60 ต้องทำหน้ายังไง แต่งหน้าแบบไหน ทำผมยังไง หรือต้องพูดจาแบบไหน ต่อไปนี้ห้ามเรียกตัวเองว่าหนูแล้วนะเพราะว่าอายุ 60 คือเหมียวก็ยังเรียกแทนตัวเองว่าหนูกับทุกคนที่แก่กว่าเพราะยังไงท่านทั้งหลายก็แก่กว่าเหมียวอยู่ดี อย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนมากคือร่างกายของเราที่ไม่เหมือนสมัยก่อน จริง ๆ วิธีใช้ชีวิตก็สอนเรามาเยอะ โรคต่าง ๆ ที่เราเป็นตอนนี้ก็สอนเราว่า เราไม่มีโอกาสกลับไปแก้ไขตรงนั้น แต่สามารถดูแลให้มันดีขึ้นในตอนนี้ได้

“หลายคนบอกว่าแก่แล้วก็เพลา ๆ ลงบ้าง เหมียวเองยังไม่ได้รู้สึกว่าเราทำไม่ไหว จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วที่ทำมัทนะพาธา (การแสดงการอ่านบทพระราชนิพนธ์ มัทนะพาธา หรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบการแสดงและดนตรี เนื่องในวาระครบ 100 ปี บทพระราชนิพนธ์) ปีที่ผ่านมาทั้งปีเหมียวไม่สบายมาตลอด โรคอะไรที่ใครเป็นกันเหมียวเป็นด้วย เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่ไหว เริ่มอยากมีเวลาที่ได้นอนเฉย ๆ หรือพักบ้าง เหมียวอยากอ่านหนังสือ เหมียวอยากที่จะไม่ต้องคิดอะไรเลย

“แล้วจริง ๆ มันเริ่มทำได้มากขึ้นนะคะที่ตัดออกไปจากหัวเลย ไม่คิดถึง ไม่กังวล พรุ่งนี้ก็คือพรุ่งนี้ แต่ว่าวันนี้เหมียวต้องพัก เหมียวอยากนั่งคุยกับเพื่อน เหมียวอยากไปเดินเล่น เหมียวอยากนอนเฉย ๆ ดูซีรีส์ เหมียวก็จะทำมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนเหมียวทำไม่ได้ อันนี้ต้องบอกว่าเป็นเพราะว่าเริ่มทำสมาธิได้ดีขึ้น อ่านหนังสือธรรมะได้เข้าใจมากขึ้น ฟังครูบาอาจารย์ที่พูดถึงเรื่องสัจจะความจริงของธรรมชาติได้เข้าใจมากขึ้น เป็นเพราะประสบการณ์และเวลาที่ผ่านมาก็อีกส่วนหนึ่งด้วย”

เห็นคุณเหมียวดู active สดใสแบบนี้ ตกตะกอนในการใช้ชีวิตมาอย่างเข้มข้น อยากฝากอะไรสำหรับคนรุ่นใหม่บ้าง ?

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เวลาที่เราคิดถึงตัวเองมากไป ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมหรือคนที่อยู่รอบตัวเรา มักจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ทำลายเรื่องต่าง ๆ ถ้าเราเริ่มคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ของสังคม ของทุกอย่าง เราจะมีความสุขอยู่คนเดียวไม่ได้

"
เพราะฉะนั้นจะทำอะไร จะคิดอะไร ลองคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นด้วย อย่ามัวคิดว่าจะเป็นแต่ผู้รับ แต่เรายังเป็นผู้ให้ได้ด้วย
"

เหมียวโชคดีเพราะทุกคนให้โอกาสเหมียวมามาก ถ้าเหมียวให้โอกาสคนอื่นบ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม คนคนนั้นก็คงจะมีความสุขเหมือนกันกับเรา เราให้โอกาส ให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ไม่ทำผิดหรือไม่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เหมียวไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนดีค่ะ แต่คิดว่านี่เป็นหน้าที่พื้นฐานของคนเราที่พึงมีต่อคนอื่นและสังคม” คุณเหมียวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว