line
เมนู
Gen ยัง Active ทอล์ค

10 คำถามกับ ‘ศ.เกริก ยุ้นพันธ์’ ศิลปินแห่งชาติที่มีศิลปะและธรรมะเพิ่มพลังชีวิต

เข้าใจหลักการศิลปะสู่ธรรมะ แนวทางดำเนินชีวิตในวัย Gen ยัง Active
แชร์บทความนี้
line
line
line

สีสันสดใส ลายเส้นโดดเด่นมีชีวิตชีวา คือเอกลักษณ์ผลงานภาพวาดของ ‘ศาสตราจารย์ เกริก ยุ้นพันธ์’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2565 ที่โลดแล่นเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความเยาว์วัยอยู่เสมอ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน…

อาจารย์เกริกในวัย 65 ปียังคงเป็น Gen ยัง Active ที่เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต ซึ่งเราสัมผัสได้ตลอดการพูดคุย ตัวอาจารย์เองอัปเดตให้ฟังว่า ชีวิตในตอนนี้คือชีวิตที่เลือกเองในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการงาน สุขภาพ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต มาเรียนรู้มุมมองสุดเจ๋งจากศิลปินแห่งชาติท่านนี้ไปพร้อม ๆ กัน

เกริก ยุ้นพันธ์ในวันวาน กับวันนี้ แตกต่างกันอย่างไร

“เดิมตั้งแต่ตอนหนุ่มจนถึงวัยกลางคน เราเองเป็นคนกระฉับกระเฉง ปรู๊ดปร๊าด รวดเร็ว ว่องไว เป็นคนเดินเร็ว กินเร็ว พูดเร็ว แล้วถ้าตั้งใจทำงานอะไรจะมุ่งมั่นให้สำเร็จให้จงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสอนหนังสือ การทำพิพิธภัณฑ์ สมัยสอนที่ มศว. ทุกบ่ายวันศุกร์จะไปร้านหนังสือเพื่ออัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเนื้องานของตัวเอง พอวันจันทร์ก็จะอัปเดตให้ลูกศิษย์ฟัง เรียกว่าสมัยนั้นพลังงานล้นเหลือจริง ๆ ตัดภาพมาตอนนี้ ก็ยังกระฉับกระเฉงในสไตล์ผู้สูงวัยอยู่ แต่จะระมัดระวังตัวเองมากขึ้น กลัวล้ม กลัวเกิดอุบัติเหตุ ก็เลยตั้งปณิธานว่าจะไม่ซน จะไม่ดื้อ เพราะไม่อยากเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน”

ความสุขในวัย Gen ยัง Active ของคุณคืออะไร

“สำหรับเราคือการได้อยู่บ้านนะ เห็นเพื่อน ๆ ไปเที่ยว เราก็ดีใจกับเขาที่ยังแข็งแรง หลายคนถามว่าทำไมไม่ออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง ก็ต้องบอกว่าความสุขของคนเราไม่เหมือนกัน ความสุขของเราคือการได้อยู่นิ่ง ๆ อยู่กับบ้าน เข้าสวน ตากแดดให้ร่างกายได้สัมผัสกับธรรมชาติ หิวก็เข้าครัวทำอาหารง่าย ๆ เพราะเรายังไม่หลงไม่ลืม เปิดเตาเป็น ใช้กาน้ำร้อนได้ กลัวที่สุดคือกลัวเป็นอัลไซเมอร์ แต่คิดว่าไม่ เพราะเราได้ลับสมองสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ไหว้พระ ซึ่งเป็นการทำสมาธิ เป็นการลับสมองอีกแบบ”

ดูจะอินกับธรรมะเป็นพิเศษ แล้วมีมุมมองเรื่องความตายอย่างไร

“ความตายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะปลายทางของทุกคนต้องเดินทางแบบนี้ไม่มีใครเลี่ยงได้ แค่เป็นห่วงอยู่อย่างเดียว ไม่ต้องรั้งอะไรไว้ ไม่ต้องใช้เทคนิคทางการแพทย์รั้งไว้ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นเรื่องธรรมดา”

อายุ 65 ถือว่าเป็นวัยที่ตกตะกอนเรื่องชีวิต รู้สึกอย่างไรกับคำว่าผู้สูงอายุ

“ไม่ได้รู้สึกจี๊ดอะไร เพราะพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของเราก็เป็นแบบนี้ ก็เป็นไปตามวัย เป็นอนิจจัง แล้วเราจะตกใจอะไรล่ะ เราส่องกระจก ก็เป็นไปตามวัย แค่เช้าตื่นมาก็ดีใจว่าเรายังได้ใช้ชีวิตอีกวัน ได้เห็นโลกงดงาม เห็นพระอาทิตย์ เห็นผู้คน เห็นลูกหลาน ได้ตื่นมาใช้ชีวิตกันต่อไป ถ้าเราดับไปก็ไม่ต้องห่วงอะไร เพราะเราทำเต็มที่แล้วก็ไม่ต้องห่วงอะไรทั้งสิ้น เรียกว่าเตรียมพร้อมกับทุกความไม่แน่นอนในชีวิตมากกว่า”

ตั้งเป้าอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร

“คิดเล่น ๆ ไว้เหมือนกันว่าอยากให้อายุยืนยาวเท่านั้นเท่านี้คงจะดี เช่น ตั้งเป้าว่าอายุ 88 ปีค่อยตายได้ไหม พอ 88 ปุ๊บ ขออีก 2 ปีได้ไหม พอครบ 90 ขออีกสัก 6 เดือนได้ไหม จะเป็นประมาณนี้มากกว่า ทำไมถึงตั้งเป้าแบบนี้ เพราะเราไม่ได้มีโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเรามีโรคประจำตัวก็ต้องบูรณะไป ไม่ให้มันดิ่งลงไปอีก อย่างปู่ย่าตายายก็อายุยืน คุณแม่ผม 96 เราก็ไม่ต้องรีบทำลายสถิติท่าน ก็ต้องอยู่ให้ใกล้เคียงกัน”

คิดว่าปัจจัยในการทำให้ชีวิตยืนยาวคืออะไร

“เราเองไม่ได้ออกกำลังกายแบบเคร่งถึงขนาดที่ว่าต้องสวมนาฬิกาจับเวลาการก้าวเดิน จับเวลาการสูบฉีดหัวใจ ดูอย่างปู่ย่าตายายของเราสิ ใช้ชีวิตกลางแดดกลางลม เดินเท้าเปล่า อยู่กับดิน อายุยืน ตาไม่มีปัญหา หูไม่มีปัญหา ฟันดี ทำไมเราไม่ใช้ชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด อย่างทุกวันนี้อยู่กับแดด อยู่กับต้นไม้ อยู่กับไอน้ำเย็น ๆ ที่รดน้ำต้นไม้ เป็นแบบนี้แล้วจะอายุยืน

“ในเรื่องของจิตใจก็ต้องใช้ชีวิตเหมือนปู่ย่าตายาย เหมือนผู้ใหญ่สมัยก่อนที่ใจบุญสุนทาน ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ไหว้พระ ไม่ต้องถึงขนาดนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เพราะเรายังเป็นมนุษย์ปุถุชนอยู่ พูดง่าย ๆ ว่าใช้ชีวิตแบบลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เห็นแบบไหนทำแบบนั้น เหมือนเห็นพ่อแม่เลี้ยงเราแบบไหนเราก็เลี้ยงลูกแบบนั้น”

ตอนนี้เราอยู่ในโลกดิจิทัล ได้เล่นโซเชียลเหมือนวัย Gen ยัง Active คนอื่น ๆ ไหม?

“เราชอบดู อย่าง TikTok ก็ดูนะเพราะจะได้รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว ดูทั้งคลิปกีฬา คลิปตลก คลิปสุขภาพ ไปจนถึงคลิปกิน กิน ๆๆ มันเข้าไป กินแม้กระทั่งของที่ไม่พึงจะกิน คนก็ตามดูเป็นหมื่นเป็นแสน ก็เป็นเทรนด์ ก็ดูให้รู้ว่าวัฒนธรรมของแต่ละที่มันแตกต่างกัน เราก็ดูให้สนุก ดูให้เอร็ดอร่อยไปกับเขา เป็นการอัปเดตโลก ถ้าวันนี้อยากรู้เรื่องอะไรก็ Google ไปสิ แล้วเราอย่าไปดูแค่อันเดียว เราต้องดูประกอบกันสัก 2-3 แหล่งข้อมูลถึงจะดี

“ส่วนในเฟซบุ๊ก ก็เป็นแอดมินเพจ ‘Krirk Yoonpun – ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์’ เขียนแคปชั่นเอง ทำรูปเอง ถ้าลองเข้าไปดูจะเห็นว่าเราทำรูปเหมือนเป็นงานศิลปะ มีทั้งรูปวาด รูปถ่าย ทั้งคนที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ พร้อมกราฟิกตัวหนังสือง่าย ๆ สไตล์เรา”

ทราบมาว่า ‘พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์’ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 17 แล้ว ยังคงเป็นหนึ่งในความท้าทายในชีวิตอยู่ไหม?

“เราไม่ใช่คนที่ทำอะไรเล่น ๆ ทำอะไรแค่วันนี้วันพรุ่งนี้ แต่ทำยืนระยะมาจนถึง 17 ปีแล้ว ก็ยังเต็มที่กับมัน ยังมีความสุขอยู่ไม่มีเปลี่ยน อยากฝากเป็นข้อคิดให้กับวัยหนุ่มสาวที่กำลังจะเดินทางไกลมาเป็นวัยผู้สูงอายุว่า ถ้าจะทำอะไร จงชัดเจนกับมัน ต้องทำการบ้านให้ดี ต้องศึกษาให้ดีว่ามันเป็นไปได้ไหม มันอยู่ได้ไหม อย่าทำเพราะกระแส หรือเพราะอยากอวด หรือเพราะทำเล่น ๆ เอาสนุก อยากให้เห็นความยั่งยืน คนจะเก่ง จะมีคุณค่า มีคุณภาพ หนึ่งต้องอ่านหนังสืออย่าหยุด สองต้องกินอาหารอร่อย อย่างอาหารพื้นบ้านที่มีประโยชน์และสะอาด สามเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนฉากชีวิต สี่ฟังดนตรีดี ๆ เพื่อเกิดการคิดและจินตนาการที่ดี และห้าไปพิพิธภัณฑ์ ภูมิใจในความเป็นชาติไทย รักและหวงแหนในศิลปะและวัฒนธรรม ถ้าทำได้ 5 อย่างคุณจะเป็นคนแข็งแรงคนนึงของชาติ”

นอกจากการดูแลพิพิธภัณฑ์แล้ว ช่วงนี้ได้วาดรูปหรือเขียนหนังสือเด็กบ้างไหม?

“ตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากได้งานของอาจารย์เกริกมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงผลงานใหม่ คงต้องรอไปเรื่อย ๆ ก่อน ทุกวันนี้เราไม่ได้ตื่นขึ้นมาทำงานเพราะหวังเม็ดเงินแล้ว อยากใช้ชีวิตชิล ๆ ช้า ๆ ไม่เร่งรีบ ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีสำนักพิมพ์มาติดต่อ นำผลงานเก่าทั้งรูปและต้นฉบับไปตีพิมพ์เป็น 10 เล่ม แต่ถามว่าตั้งหน้าตั้งตาทำไหม? ก็ทำเท่าที่อยากทำ แต่ส่วนของการวาดรูป ยังวาดเล่นอยู่ อย่างตัวเราอยู่ที่อยุธยาก็จะวาดรูปแลนด์สเคปเล่น เติมฟีลลิ่งที่เป็นการ์ตูนสไตล์อาจารย์เกริกเข้าไป สีสันหลากหลาย ถ้าเข้าไปดูในเพจก็จะมีภาพวาดต่าง ๆ สไตล์เหมือนหนังสือเด็ก ถ้าถามว่ารูปพวกนี้วาดแล้วสามารถต่อยอดไปทำอะไร? ก็นำไปทำเป็นสมุดโน้ต เป็นของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ได้สบายมาก”

มาถึงคำถามสุดท้าย ทุกวันนี้ความสุขคืออะไร?

“ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ ทำเต็มที่เสมอ ร้องให้สุดคำ รำให้สุดแขน ฝันไว้ให้ไกล แล้วไปให้ถึง จักพบความสุข สุขหนึ่งยิ่งใหญ่ เท่าใจจักรวาล”

นับเป็นคำตอบทิ้งท้ายของ ศาสตราจารย์ เกริก ยุ้นพันธ์ ที่มอบข้อคิดเพื่อให้ทุกคนได้พัฒนาตัวเองจนเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดและงดงามที่สุดโดยแท้จริง

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว