line
เมนู
รู้แล้วยัง

รู้เท่าทันอันตรายจาก ‘แคดเมียม’ โลหะพิษต่อร่างกาย

แคดเมียมคืออะไร ทำไมส่งผลต่อสุขภาพผู้สูงอายุ
แชร์บทความนี้
line
line
line

แคดเมียม (Cadmium) เป็นโลหะที่พบปะปนกับโลหะอื่น ๆ เช่น ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง โดยมีฤทธิ์กัดกร่อน จุดหลอมเหลวต่ำ และนำความร้อนได้ดี โดยมักใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำแบตเตอรี การทำเม็ดสี การเชื่อมโลหะ โดยเฉพาะโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และอุตสาหกรรมพลาสติก

แหล่งที่พบ

อาหารและแหล่งน้ำ : ร่างกายได้รับแคดเมียมจากการปนเปื้อนและตกค้างในแหล่งน้ำและอาหารเป็นสำคัญ

อากาศ : แคดเมียมเป็นหนึ่งในโลหะที่พบว่ามีการปนเปื้อนอย่างมากในอากาศจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน และน้ำมัน

บุหรี่ : มีแคดเมียมได้ปริมาณ 0.5 - 1 ไมโครกรัม / บุหรี่ 1 มวน เนื่องจากการตกค้างในใบยาสูบ

การรับเข้าสู่ร่างกาย

สำหรับการรับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายนั้น ที่ดูดซึมได้มากที่สุดคือผ่านทางการหายใจ ซึ่งจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคดเมียมได้ 10 - 40 % ส่วนการรับประทาน จะดูดซึมประมาณ 5% โดยการดูดซึมจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย แคดเมียมจะไปสะสมที่ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กล้ามเนื้อ ไขมัน อัณฑะ และรบกวนการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งจะทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายต่อไป

พิษจากแคดเมียมต่อร่างกาย

พิษต่อไต ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ (proximal tubule damage) อาการแรกเริ่มจะพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ทำให้เกิด Fanconi syndrome ได้

พิษต่อปอด ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และปอดอักเสบเรื้อรัง

พิษต่อกระดูก ทำให้เกิดการสร้างกระดูกที่ผิดปกติได้ (หากได้รับเรื้อรัง) ทำให้กระดูกพรุนและปวดกระดูก

พิษต่อระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าทำให้ลดการสร้างสเปิร์ม และมีการสร้างสเปิร์มที่ผิดปกติได้

พิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเกี่ยวกับสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย และเพิ่มความเสี่ยงความดันสูง

สารก่อมะเร็ง (IARC I) แคดเมียมในระยะยาวจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งไต เป็นต้น

หากมีข้อสงสัย หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม
สามารถติดต่อได้ที่ : ศูนย์พิษวิทยาศิริราช
โทร : 02 - 4197007
Line ID : @sipcc

เรียบเรียงโดย จีเอสเค

เอกสารอ้างอิง
ศูนย์พิษวิทยาศิริราช. (2567, เมษายน, 5). แคดเมียม. (2567,เมษายน, 11) https://www.facebook.com/sipcc.mahidol/posts/pfbid0dLsgf2oKYovTYHMH41favkGZadLmJgL1gPcqhriCgmDTZjCUrEVa619pVWhmTTksl

NP-TH-NA-WCNT-240013

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว