ดวงตา เป็นอวัยวะที่สำคัญมาก แต่หลายคนกลับมองข้าม เพราะคิดว่าแค่มองไม่ชัดก็ใส่แว่นไป แต่แค่สัญญาณเตือนเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น อาจเป็นโรคอันตรายที่เสี่ยงสูญเสียการมองเห็นได้หากรักษาไม่ทัน
‘จอประสาทตาเสื่อม’ คือโรคที่เกิดจากจอประสาทตาในลูกตาเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถรับภาพได้ดีเท่าเดิม โรคจอประสาทตาเสื่อมนี้จะทำให้การมองเห็นแย่ลงเรื่อย ๆ มองภาพบิดเบี้ยว มองเห็นสีได้น้อยลง การมองเห็นช่วงกลางภาพหายไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะสูญเสียการมองเห็นส่วนใหญ่ไปในที่สุด มักเกิดกับช่วงวัย 50+¹
จอประสาทตาเสื่อมพบได้ 2 ประเภท¹
1. แบบแห้ง เป็นแบบที่พบมากที่สุด สาเหตุคือจอประสาทตาส่วนกลางเสื่อมและบางลงอย่างช้า ๆ ทำให้การมองเห็นค่อย ๆ ลดลง 2. แบบเปียก พบเพียง 10-20% เกิดจากมีเส้นเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา และมีการรั่วซึมของเลือดและของเหลวเข้าไปในชั้นของจอประสาทตา ส่งผลกระทบกับการทำงานของจอประสาทตา ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม¹
- อายุที่มากขึ้น โดยพบโรคนี้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป - มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ผู้ที่มีญาติสายตรงควรตรวจเช็กจอประสาทตาทุก ๆ 2 ปี - พบการเกิดโรคสูงในคนผิวขาว (Caucasian) โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี - การดื่มสุราและสูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้ - ผู้ที่มีความดันเลือดสูงหรือทานยาลดความดันเลือด พร้อมทั้งมีระดับไขมันในเลือดสูง - ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน - การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตและแสงสีฟ้าที่มาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนเป็นระยะเวลานาน

สัญญาณเตือน โรคจอประสาทตาเสื่อม¹
- การมองเห็นแย่ลง โดยเฉพาะส่วนกลางภาพ จะเห็นเป็นภาพเบลอหรือเห็นเป็นสีเทาดำมืดไปเลย อาจจะเกิดขึ้นกับตาข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้ - ภาพการมองเห็นบิดเบี้ยวผิดรูป - ต้องใช้แสงสว่างมากกว่าปกติเพื่อให้มองเห็นชัด และมองเห็นได้น้อยลงเมื่ออยู่ในที่แสงน้อย - อ่านหนังสือยากขึ้น
อาการจอประสาทตาเสื่อมทั้งชนิดเปียกและชนิดแห้ง ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่อาการของโรคในชนิดเปียกจะเกิดขึ้นรุนแรง และรวดเร็วกว่าชนิดแห้ง ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียกมีโอกาสสูญเสียการมองเห็นเกือบทั้งหมดได้หากไม่รีบรักษา

วิธีการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม¹
การรักษาจอประสาทตาเสื่อมมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยแพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละกรณี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การฉายเลเซอร์ การผ่าตัด รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูการมองเห็นและชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา ดังนี้
ยาฉีดชนิดใหม่ ที่ออกฤทธิ์นานขึ้นมีประโยชน์ในการช่วยลดความถี่ในการฉีด ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบายมากขึ้นและลดภาระในการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
Gene Therapy เป็นการรักษาโดยการใส่ยีนที่ปกติลงในเซลล์จอประสาทตาเพื่อซ่อมแซมความเสียหาย การทำงานของจอประสาทตาและชะลอการเสื่อมของการมองเห็น
Stem Cell Therapy ใช้สเต็มเซลล์เพื่อสร้างเซลล์จอประสาทตาใหม่ ช่วยในการฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่เสียหายและคืนการมองเห็นให้กับผู้ป่วย
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม¹
- งดการสูบบุหรี่ - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง - ควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือด - ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว เนื้อปลา ผลไม้ เป็นต้น - ตรวจสุขภาพและตรวจตาเป็นประจำทุกปี - ควรสวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต และกางร่มที่สะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อออกกลางแดด
จะเห็นได้ว่า ‘ดวงตา’ เป็นอวัยวะที่สำคัญของชีวิต แต่เมื่ออายุเยอะขึ้นดวงตาก็จะเสื่อมถอยตามเช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ดังนั้น นอกจากการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะได้ดูแล รักษาร่างกายก่อนการเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที
เรียบเรียงโดย : จีเอสเค
เอกสารอ้างอิง: 1. โรงพยาบาลจักษุกรุงเทพ รู้จักอาการและปัจจัยเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อมพร้อมวิธีการรักษา. (2025, May 15) https://www.bangkokeyehospital.com/blogs/age-related-macular-degeneration-treatment
NP-TH-NA-WCNT-250011 | May 2025