line
เมนู
รู้แล้วยัง

เคล็ดลับเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ เพื่อชีวิตที่สดใส

ยิ่งเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ฟิตมากเท่าไหร่ ผู้สูงอายุยิ่งพิชิตโรคต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
แชร์บทความนี้
line
line
line

เมื่ออายุมากขึ้น การรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อสุขภาพโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดี โดยระบบภูมิคุ้มกันมีบทบาทสำคัญในการปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโรคต่าง ๆ

สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป การดูแลระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชีวิตที่สดใส เต็มไปด้วยพลังและความมีชีวิตชีวา ครั้งนี้เลยจะไขความลับสู่ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และใช้ชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพและความสุขที่ยั่งยืนให้รู้กัน

ความมหัศจรรย์ของระบบภูมิคุ้มกัน

ก่อนที่เราจะเริ่มเนื้อหาเรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ขออธิบายถึงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้าใจกันก่อน โดยระบบภูมิคุ้มกัน คือเครือข่ายการป้องกันที่ประกอบด้วย อวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งคุกคามที่เป็นอันตราย

ส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันคือเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหลายประเภท แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะ ลองจินตนาการภาพของระบบภูมิคุ้มกันเป็นกองทัพที่ได้รับการจัดระเบียบอย่างดี โดยมีลิมโฟไซต์ (lymphocyte) ทำหน้าที่เป็นทหารแนวหน้า และฟาโกไซต์ (phagocyte) เป็นหน่วยเก็บกวาดที่ขยันขันแข็ง ระบบที่สลับซับซ้อนนี้สื่อสารกันผ่านสารเคมี และทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจตราร่างกายของเราทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เรามีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็เช่นเดียวกับกองทัพทั่วไป ระบบต้องการการฝึก การบำรุง และการพักผ่อนที่เหมาะสมเพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกันตามอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันจะผ่านการเปลี่ยนแปลงบางอย่างซึ่งรวมถึง:

  1. การเสื่อมหน้าที่ของต่อมไทมัส (thymus gland) : ต่อมไทมัสเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการทำให้เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ทีเซลล์ (t-cell lymphocyte) เติบโต ต่อมนี้ค่อย ๆ หดตัวลงตามอายุ ทำให้การผลิตและประสิทธิภาพของทีเซลล์ลดลง
  2. การตอบสนองของแอนติบอดีลดลง : แอนติบอดี ซึ่งเป็นโปรตีนป้องกันของร่างกาย อาจไม่ตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อการติดเชื้อหรือวัคซีนในผู้สูงอายุ

เมื่ออายุมากขึ้นอาจส่งผลให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความไวต่อการติดเชื้อและการเจ็บป่วยมากขึ้น

8 วิธีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน

เพื่อให้ร่างกายคงความแข็งแรงและความต้านทานต่อสิ่งคุกคามต่าง ๆไว้ได้ ถึงแม้อายุจะมากขึ้น

  1. โภชนาการที่ครบถ้วนและหลากหลาย อาหารที่มีประโยชน์และสมดุลเป็นรากฐานสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง วิตามินและสารอาหารหลายชนิดมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ วิตามินซี ดี อี และ สังกะสี เป็นต้น
  2. การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ การดื่มน้ำสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย
  3. การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยเพิ่มการไหลเวียน และกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน โดยการออกกำลังกายที่ดีควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอดังเช่นกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ
  4. การนอนหลับที่มีคุณภาพ เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ระหว่างการนอนหลับ ร่างกายของเราจะซ่อมแซม สร้างใหม่ และฟื้นฟูระบบ ดังนั้น Gen ยัง Active จึงควรตั้งเป้าหมายการนอนหลับให้ได้ 7-9 ชั่วโมงในแต่ละคืน สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลาย และดูแลให้สภาพแวดล้อมการนอนมีความสบายและเอื้อต่อการพักผ่อน
  5. ป้องกันและควบคุมความเครียด ความเครียดเรื้อรังสามารถกดระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้นควรทำกิจกรรมเพื่อลดความเครียด เช่น การทำสมาธิ หรือใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ ฝึกฝนงานอดิเรก และการทำอารมณ์ให้แจ่มใส อยู่ใกล้กับผู้คนที่คิดบวก ให้กำลังใจ และมีอารมณ์ขัน จะมีส่วนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างที่นึกไม่ถึง
  6. การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ ดังนั้น Gen ยัง Active จึงควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อปกป้องสุขภาพภูมิคุ้มกันและสุขภาวะโดยรวม
  7. ลำไส้ที่แข็งแรงเป็นที่อยู่ของแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายล้านล้านตัวที่สนับสนุนการสร้างภูมิคุ้มกัน การบำรุงลำไส้ ให้รวมอาหารที่อุดมด้วยโพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ ช่วยรักษาสมดุลของแบคทีเรียที่มีประโยชน์เหล่านี้ได้
  8. การฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และการฉีดวัคซีนมีความสำคัญในการป้องกันตนเองและคนรอบข้างจากโรคติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ป้องกันได้

ชีวิตประจำวันแต่ละวันของเรา ระบบภูมิคุ้มกันเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ที่ช่วยปกป้องร่างกายอยู่ทุกย่างก้าว การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันง่าย ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเป็นหลักประกันให้ชาว Gen ยัง Active มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน

เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

NP-TH-NA-WCNT-230006

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว