ช่วงนี้ฝนตกบ่อยไปไหนมาไหนอย่าลืมพกร่ม ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพราะในหน้าฝนอากาศจะเริ่มเย็นลงและความชื้นสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ ทำให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันก็ยิ่งลด ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ง่าย
ชวนดูโรคยอดฮิตที่มักมากับฤดูฝน ทั้ง 5 กลุ่ม รวม 15 โรค จากกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ที่ได้ออกประกาศเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุให้ป้องกันโรคติดต่อเหล่านี้กัน
กินสุก ๆ ดิบ ๆ ระวัง ‘โรคบิด’
กลุ่มที่ 1 : โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลชีพ ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
นอกจากนี้เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ ยังสามารถติดต่อได้จากการกินอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน ดังนั้น ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ โดยเลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลาง
น้ำท่วมขัง ระวัง ‘ฉี่หนู’
กลุ่มที่ 2 : โรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง โรคที่พบบ่อย คือ ‘โรคเลปโตสไปโรซิส’ หรือ ‘ไข้ฉี่หนู’ ซึ่งผู้ป่วยมีอาการ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง นอกจากนี้ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคฉี่หนูอาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ โดยโรคนี้มักเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม บ้านที่มีหนูมาก และผู้ที่ทำงานเป็นเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา และผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ ทำงานในเหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ หรือมีกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องลุยน้ำ เช่น ตกปลา เป็นต้น
ฝนตกบ่อย ระวัง ‘ปอดบวม’
กลุ่มที่ 3 : โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม คือโรคที่ Gen ยัง Active ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ
ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระวัง ‘พาหะนำโรค’
กลุ่มที่ 4 : กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ประกอบไปด้วย 3 โรคสำคัญ ได้แก่
- ข้เลือดออก มี ‘ยุงลาย’ เป็นพาหะนำโรค แล้วรู้ไหมว่ากว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามจุดต่าง ๆ ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลง พร้อมกับอาจมีอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้
- ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) เป็นโรคที่มี ‘ยุงรำคาญ’ เป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชักได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
- โรคมาลาเรีย เป็นโรคที่มี ‘ยุงก้นปล่อง’ ซึ่งอยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้
น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ระวัง ‘ตาอักเสบ’
กลุ่มที่ 5 : โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ยิ่งช่วงฤดูฝน ยิ่งต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา และอันตรายจากสัตว์มีพิษ ที่หนีน้ำมาอาศัยบริเวณบ้าน
รู้จักโรคที่ควรระวังสำหรับผู้สูงวัยในช่วงหน้าฝน ครบทั้ง 5 กลุ่มกันแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้คือ ‘การรับประทานยาลดไข้’ เช่น ห้ามกินยาในกลุ่มแอสไพรินเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอยู่แล้ว
หากกินยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น และอาจเกิดเป็นกลุ่มอาการไรซินโดรม ซึ่งมีผลต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและตับ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการทางสมอง เช่น สับสน ซึม หมดสติ จนเสียชีวิตได้
แม้ฤดูฝนจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกคนสามารถป้องกันโรคที่มากับฝนได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศเย็นที่มีความชื้นสูง ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำลงกว่าคนวัยอื่น ๆ จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย
เรียบเรียงโดย : รศ. ดร. นพ.เมธี ชยะกุลคีรี ภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาโรคติดเชื้อฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เอกสารอ้างอิง : Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (n.d.). Faculty of Medicine Siriraj Hospital. (n.d.). โรคที่มากับหน้าฝน. Mahidol.ac.th. Retrieved August 18, 2023, from www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=790 NP-TH-NA-WCNT-230004