เราอาจเคยได้ยินความอันตรายของโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่เรียกว่า สโตรก (Stroke) กันมาบ้างแล้ว หลายคนอาจมองว่าเป็นโรคหนึ่งที่น่ากลัว แต่หลาย ๆ คนก็อาจยังเพิกเฉยไม่ดูแลตัวเอง
แต่รู้หรือไม่ โรคนี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด !
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตและความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย¹ วันหนึ่งอาจเป็นเรา ที่อยู่ดี ๆ ก็อาจเกิดอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ขึ้นมากะทันหัน¹ ในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบัน กลับพบในคนอายุน้อยและคนในวัยทำงานเพิ่มขึ้น²
โรคหลอดเลือดสมองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนล้วนมีความเสี่ยง…
รู้จัก ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ให้มากขึ้น
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ เนื้อสมองถูกทำลาย สมองสูญเสียการทำงาน และอาจทำให้เนื้อสมองตายได้³
ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย บางคนปากเบี้ยว แขนอ่อนแรง บางคนอ่อนแรงทั้งแขนและขาซีกเดียวกัน หากเป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุมอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย อวัยวะนั้นก็จะสูญเสียการทำงาน⁴
เช็กลิสต์ปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง³
โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังนี้
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ระบบการทำงานในร่างกายก็จะเสื่อมสภาพหรือทำงานได้ลดลง จึงมีผลทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ในโรคหลอดเลือดสมองก็เช่นกัน เมื่อผนังหลอดเลือดเสื่อมลง ความยืดหยุ่นลดลง ก็ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ง่ายขึ้น โดยพบว่าผู้สูงวัยจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนหนุ่มสาว
ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ได้แก่ โรคอ้วนและขาดการออกกำลังกาย โรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและสารพิษในบุหรี่ ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น⁵
สัญญาณเฉียบพลัน อาการแบบไหนต้องรีบพบแพทย์¹
การสังเกตลักษณะอาการนั้นสำคัญมาก ดังนั้นควรสังเกตและตรวจเช็กอาการ ว่าตัวผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองได้
- พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือพูดไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น รู้สึกสับสน มึนงง - แขนขาอ่อนแรง ชาบริเวณหน้า แขน ขา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะเกิดกับร่างกายแค่ด้านเดียว ร่วมกับอาการปากเบี้ยว - ตามัวเฉียบพลัน มีปัญหาด้านการมองเห็น โดยที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเกิดอาการตามัวแบบเฉียบพลัน หรือเห็นภาพซ้อน - มึนงง เวียนศีรษะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ เวียนหัวเฉียบพลัน ร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน - เดินเซ การทรงตัวผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง⁴
โรคหลอดเลือดสมองสามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแก่ตัวผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร
- อัมพาต ผู้ป่วยอาจจะเกิดอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกาย หรือ ภาวะที่แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อใบหน้าขยับไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปกติ เกิดภาวะถดถอยของร่างกาย - การพูดและการกลืน จะมีปัญหาการพูดการกลืน หรือรับประทานอาหาร - สูญเสียความทรงจำ หรือปัญหาเกี่ยวกับสมอง - เจ็บปวดหัวไหล่ แขน ขา หรือชา โดยเฉพาะส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง เช่น หากโรคส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกที่แขนด้านซ้าย บริเวณแขนซ้ายมักมีอาการเจ็บหัวไหล่ ข้อไหล่ซ้ายติดแข็งและปวดแปล๊บลงแขน - อารมณ์แปรปรวน และมักมีภาวะซึมเศร้า เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปกติ ต้องนั่งรถเข็น ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง จึงอยากปลีกตัวออกจากสังคม
โรคหลอดเลือดสมองรักษาได้หรือไม่?
โรคหลอดเลือดสมองสามารถรักษาได้ หากเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีที่มีอาการบ่งชี้ แพทย์จะตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือถ่ายภาพรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อวิเคราะห์แยกโรค เพราะอาจมีโรคที่มีอาการใกล้เคียง เช่น เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงผิดปกติ เป็นต้น⁶ หากเกิดจากหลอดเลือดอุดตัน และมาโรงพยาบาลเร็ว จะมีการฉีดยาสลายลิ่มเลือด หรือเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกผ่านทางสายสวน¹
การฟื้นฟูอาการโรคหลอดเลือดสมอง³
หลังจากได้รับการรักษาทางการแพทย์จนอาการของผู้ป่วยคงที่แล้ว แพทย์จะแนะนำให้กายภาพบําบัด ซึ่งเป็นการรักษาโดยการดูแลร่างกาย ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยในส่วนที่สูญเสียการควบคุมหรืออ่อนแรง ให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดการเป็นภาระของครอบครัวและสังคม และวางแผนรักษาแบบระยะยาวจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยใช้เทคนิคการรักษา เช่น การช่วยขยับข้อต่อเพื่อป้องกันข้อติด การกระตุ้นการออกกำลังกายเพื่อทำให้กล้ามเนื้อมีกำลังมากขึ้น การฝึกทรงตัว รวมถึงการใช้งานแขนขาในชีวิตประจำวัน ฝึกการพูดสื่อสารและการกลืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย
หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว อาจมีโอกาสเป็นซ้ำได้ การป้องกันการเป็นซ้ำ⁷ ตามปัจจัยเสี่ยง และการรับประทานยา ติดตามการตรวจอย่างสม่ำเสมอ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่อันตราย แต่หากรู้เร็ว รักษาทันเวลา ก็สามารถช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือหายเป็นปกติได้⁵ ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ป้องกันได้ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง เพื่อค้นหาความเสี่ยง และเลือกแนวทางการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป
เรียบเรียงโดย: ศ. นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เอกสารอ้างอิง: 1. โรคหลอดเลือดสมอง รู้ทันป้องกันอัมพาต. (2022, August). Siphhospital Retrieved October 18, 2024, from https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/stroke 2. Hsu, Y. (2019). International journal of environmental research and public health, 16(6), 961. https://doi.org/10.3390/ijerph16060961 3. Kuriakose, D. (2020). International journal of molecular sciences, 21(20), 7609. https://doi.org/10.3390/ijms21207609 4. Symptoms. (n.d.). NHLBI, NIH. Retrieved October 18, 2024, from https://www.nhlbi.nih.gov/health/stroke/symptoms 5. Shehjar, F. (2023). Neurochemistry International, 162(105458), 105458. https://doi.org/10.1016/j.neuint.2022.105458 6. Diagnosis. (n.d.). NHLBI, NIH. Retrieved October 18, 2024, from https://www.nhlbi.nih.gov/health/stroke/diagnosis 7. Villines, Z. (2023, May 17). Recurrent strokes: Causes, symptoms, treatment, and more. Retrieved October 18, 2024 Medicalnewstoday.com. https://www.medicalnewstoday.com/articles/recurrent-strokes
NP-TH-NA-WCNT-240037