ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนขึ้น สุขภาพร่างกายและจิตใจย่อมมีโอกาสเสื่อมลงตามอายุที่มากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจพบความเจ็บป่วยตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จึงเป็นมาตรการป้องกันโรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
วิธีการที่แพทย์ใช้ในการตรวจคัดกรองโรค
การซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป
เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น
- โรคความดันโลหิตสูง จากการวัดความดันโลหิตที่ต้นแขนหลังจากนั่งพักอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง
- กลุ่มโรคเฉพาะในผู้สูงอายุ (Geriatric Syndrome) เช่น ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน ภาวะสูญเสียความสามารถในการเดิน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ความบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะทุพโภชนาการ การเกิดผลข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยา
- โรคในระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
- โรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ตรวจผิวหนัง เช่น การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะถ้าเป็นโรคเบาหวานอยู่ด้วย ผื่นแพ้ยา ภาวะผิวแห้ง มะเร็งผิวหนัง
- ปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม เช่น การขาดผู้ดูแลใกล้ชิด และไม่สามารถออกไปพบปะสังคมกับผู้อื่น
การตรวจระบบประสาทสัมผัสพิเศษ
-
ตรวจหู ภาวะหูหนวก หูตึง พบได้บ่อยมาก ประมาณร้อยละ 25–35 ในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่
- 1.1 ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ ที่มีชื่อเรียกว่า Presbycusis
- 1.2 หูชั้นนอกอุดตันจากขี้หู ที่มีปริมาณมากและติดแน่น
- 1.3 ภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมาก ๆ ในอดีต
ความผิดปกติจากสาเหตุที่หนึ่งและสาม จำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษของแพทย์เฉพาะทางด้านหู จึงยืนยันได้แน่นอน การรักษาทั้งสองกลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยการได้ยินติดตัวไปกับผู้สูงอายุ ส่วนภาวะหูตึงจากสาเหตุที่สองคือ หูชั้นนอกอุดตันจากขี้หู สามารถวินิจฉัยได้ง่ายจากการตรวจในหูชั้นนอกด้วยเครื่องมือที่ส่องเข้าไปดูคล้ายไฟฉาย และให้การรักษาได้เลย จึงเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจเสมอ
การตรวจตา
ผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน ประมาณร้อยละ 10 จะมีโรคทางตา หรือความสามารถในการมองเห็นลดลงซ่อนเร้นอยู่ สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่
-
- โรคต้อกระจก ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการตามัวลงอย่างช้า ๆ
- โรคต้อหิน ผู้สูงอายุที่มีต้อหิน ส่วนหนึ่งจะค่อยเป็นค่อยไป มักจะมาพบแพทย์ต่อเมื่อสายตามัวลงมากจนไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาได้ ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก อาจป้องกันภาวะตาบอดได้
- ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม (Macular Degeneration) โดยเฉพาะในคนที่มีอายุมากๆ
- ภาวะสายตาสั้น หรือยาวผิดปกติ ส่วนภาวะสายตาสั้นหรือภาวะสายตายาวผิดปกตินั้น อาจทำการตรวจคัดกรองด้วยการวัดสายตา โดยให้ผู้สูงอายุอ่านภาพตัวอักษรหรือดูภาพที่ห่างออกไป 6 เมตร ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์ก็จะส่งตัวผู้ป่วยไปพบจักษุแพทย์ต่อไป
การตรวจสุขภาพจิต
โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ที่อาจซ่อนเร้นอยู่มี 2 ภาวะ คือ ภาวะซึมเศร้า และภาวะสมองเสื่อม การตรวจเพื่อค้นหาภาวะดังกล่าว แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียดทั้งจากตัวผู้สูงอายุเอง ญาติ และผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งการตรวจเช่นนี้จะใช้เวลาพอสมควร และควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทาง การตรวจชนิดนี้ญาติหรือตัวผู้สูงอายุจำเป็นต้องเล่าถึงอาการทางจิตเวชด้วย
การตรวจสุขภาพในช่องปาก
ผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 มีโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่ซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือมีรายได้ต่ำ โรคที่พบบ่อย ได้แก่ ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก วิธีตรวจเพื่อค้นหาภาวะดังกล่าวที่ดีคือ การให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นระยะ ๆ
การตรวจภายในเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี
เพื่อตรวจค้นหาก้อนเนื้องอกผิดปกติที่อาจพบได้ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งพบสูงขึ้นตามอายุ ขณะเดียวกัน หากไม่เคยได้รับการตรวจเซลล์ที่ปากมดลูกก็ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าปกติติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี สามารถลดความถี่ของการตรวจเป็นทุก 3 ปีต่อครั้ง
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ประกอบด้วยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ โดยทั่วไปวิธีการเหล่านี้สามารถตรวจพบโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ได้โดยลำพังเพียงร้อยละ 2–3 เท่านั้น แต่ถ้าการตรวจทางห้องปฏิบัติการถูกใช้ควบคู่ไปกับการซักประวัติและตรวจร่างกาย จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจยืนยันหาโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ได้ดีขึ้น ได้แก่
-
- ภาวะโลหิตจาง
- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
- โรคเบาหวาน
- โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง
- ความผิดปกติของเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะอยู่
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการตรวจเพื่อป้องกัน อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองทั้งกายและใจ อย่าเสี่ยงเลยเพราะการละเลยบางอย่างเราสูญเสียเรียกกลับคืนได้ แต่บางอย่างสูญแล้วสิ้นทั้งชีวิตและครอบครัว
ข้อมูลและเรียบเรียงโดย : รศ. นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล