หากเป็นชาว Gen ยัง Active ที่อยากมีชีวิตห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การดูแลสุขภาพก็เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องใส่ใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุนั้น ควรตระหนักถึงโรคที่ควรระวังสำหรับสูงวัย ซึ่งหนึ่งในโรคที่หลายคนคิดไม่ถึงแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นั่นก็คือ ‘โรคงูสวัด’
‘โรคงูสวัด’ รู้ก่อน ไม่เสี่ยง
‘โรคงูสวัด’ เป็นการติดเชื้อไวรัส Varicella zoster ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคสุกใส โดยการติดเชื้อนี้เป็นครั้งแรก จะแสดงอาการของโรคสุกใส ซึ่งจะมีตุ่มน้ำใสกระจายทั่วตัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นในวัยเด็ก เพราะโรคสุกใสแพร่ระบาดได้ง่าย เนื่องจากติดต่อกันทางลมหายใจ หรือสัมผัสตุ่มน้ำ
เมื่อโรคหายแล้ว เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายโดยซ่อนอยู่ที่ปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันถดถอยตามวัย เชื้อก็จะถูกกระตุ้นขึ้นมา จากการศึกษาข้อมูลในหลายประเทศทั่วโลกพบว่า คนที่อายุ 50 ขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดโรคงูสวัดเพิ่มสูงขึ้นมาก อีกทั้งยังพบว่าคนวัยนี้กว่า 90% เคยติดเชื้อไวรัสสุกใสมาแล้ว² นั่นหมายความว่า ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคงูสวัดนั่นเอง
‘โรคงูสวัด’ ซ่อนพิษร้าย อันตรายกว่าที่คิด
‘โรคงูสวัด’ ถือเป็นโรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ แต่หลายคนมักมองข้ามการป้องกัน เพราะคิดไม่ถึงว่าจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งที่จริงแล้ว โรคงูสวัดไม่เพียงแต่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบายตัว แต่ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้มากมาย
โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดก็คือ โรคปวดเส้นประสาท (postherpetic neuralgia - PHN) ซึ่งคนที่เป็นอาจมีอาการปวดเส้นประสาทตลอดเวลานานหลายเดือน หรือหลายปีหลังจากผื่นหายไป¹ นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังกลายเป็นแผลเป็น หรือถ้าโรคงูสวัดขึ้นตาก็อาจทำให้ตาบอดได้³ รวมไปถึงปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือหลอดเลือดหัวใจ⁴
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่แม้จะพบไม่บ่อยแต่กลับรุนแรงมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อสมองตาย และใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก⁵ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากทีเดียว
อายุยิ่งมาก ภูมิยิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงเป็น ‘โรคงูสวัด’
‘โรคงูสวัด’ ไม่ได้เป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะไม่ว่าใครก็เป็นงูสวัดได้หากภูมิคุ้มกันตก ซึ่งอาจเป็นช่วงที่มีความเครียดหรือนอนน้อย แต่หากเป็นผู้สูงอายุหรือก้าวเข้าสู่วัย 50+ แล้ว ยิ่งต้องระวังเพราะมีโอกาสป่วยเป็นโรคงูสวัด และอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าคนวัยอื่น
เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันลดเป็นเรื่องธรรมดา ผู้สูงอายุบางคนอาจป่วยเป็นโรคที่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันถดถอย หรือได้รับประทานยากดภูมิคุ้มกันก็จะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ และพบผู้ป่วยเป็นโรคงูสวัดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย⁶
แต่ก็ใช่ว่าคนอายุ 50+ จะต้องป่วยเป็นโรคงูสวัดกันทุกคน เพราะหากดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แต่ถ้าให้ชัวร์ก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ และการฉีดวัคซีนงูสวัดในผู้สูงอายุ ยังป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรียบเรียงโดย : จีเอสเค
เอกสารอ้างอิง 1. World Health Organization. (2014). Varicella and herpes zoster vaccines: WHO position paper, June 2014. Retrived August 22, 2023, from https://www.who.int/publications/i/item/who-wer-8925-265-288 2. Kilgore PE, et al. Varicella in Americans from NHANES III: implications for control through routine immunization. J Med Virol. 2003;70(suppl 1):S111-8. 3. Harpaz R, et al. (2008). Prevention of Herpes Zoster: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). Morbidity and Mortality Weekly Report: Recommendations and Reports, 57(RR-5):1–30; quiz CE2-4. 4. Parameswaran GI, et al. Increased Stroke Risk Following Herpes Zoster Infection and Protection With Zoster Vaccine, Clinical Infectious Diseases, 2023;76(3): e1335–40. Available from: http://dx.doi.org/10.1093/cid/ciac549 5. Meyers JL, et al. Costs of herpes zoster complications in older adults: A cohort study of US claims database. Vaccine, 2019;37(9):1235–44. Available from: http://dx.doi.org/10.1016/j.vaccine.2018.11.079 6. Centers for Disease Control and Prevention. (2023). Clinical Overview. Retrived August 23, 2023, from https://www.cdc.gov/shingles/hcp/clinical-overview.html
NP-TH-NA-WCNT-230012