line
เมนู
รู้แล้วยัง

รู้ทัน ‘วัยหมดประจำเดือน’ พร้อมเทคนิครับมือทั้งกาย-ใจ

อาการแบบไหน เข้าข่าย ‘วัยทอง’ เช็คด่วน!
แชร์บทความนี้
line
line
line

‘วัยหมดประจำเดือน’ (Menopause) หรือ ‘วัยทอง’ คือสภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทางร่างกายและจิตใจ ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร ร่วมด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาตามมา โดยผู้ที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45- 55 ปี¹

วัยหมดประจำเดือน แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่²

ระยะก่อนหมดประจำเดือน (Perimenopause)²

เป็นระยะเริ่มของการหมดประจำเดือนทำให้มีประจำเดือนมาผิดปกติ ร่วมกับมีอาการทางร่างกาย เช่น ร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย อารมณ์จะแปรปรวน ซึ่งระยะนี้จะเกิดได้หลายปี

ระยะหมดประจำเดือน (Menopause)²

เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่การหมดประจำเดือนมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี

ระยะหลังหมดประจำเดือน (Postmenopause)²

เป็นระยะที่เริ่มตั้งแต่หลังหมดประจำเดือนมาแล้ว 1 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ ได้แก่ ช่องคลอดแห้งลง มีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บ น้ำหล่อลื่นน้อยลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง ๆ ได้ง่าย

อาการแบบไหน? บอกว่าคุณเข้าสู่วัยทอง³

ร้อนวูบวาบตามร่างกาย

อาการนี้จะเป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงก่อนจะหมดประจำเดือน ผู้ที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือนจะรู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย บางรายอาจมีอาการผิวหนังแดง หน้าแดง นอกจากนี้อาการดังกล่าวส่งผลให้เหงื่อออก ร้อน ๆ หนาว ๆ นอนไม่หลับ รู้สึกเหนื่อย และขาดสมาธิได้อีกด้วย

อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดไม่มีสาเหตุ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้³

บ่อยครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ที่รวดเร็ว เดี๋ยวหงุดหงิด น้อยใจ หรือโมโหขึ้นมาแบบไม่มีสาเหตุ ส่งผลให้ควบคุมอารมณ์ได้ยาก บางรายอาจเครียดจนเกิดเป็นอาการซึมเศร้าตามมา ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่ลดลง

ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือปวดตามกระดูกและข้อ³

อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศลดลง เกิดการเสื่อมของข้อต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและเจ็บตามข้อ และพบว่ามีอัตราการสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็วภายหลังหมดประจำเดือน ส่งผลต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย

นอนไม่หลับ³

อาการนอนไม่หลับเกิดได้บ่อยในวัยทองทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเกิดจากความวิตกกังวล ภาวะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป หรืออาจเป็นเพราะอาการร้อนวูบวาบ จึงทำให้รู้สึกว่านอนหลับยาก

ปัญหาช่องคลอดแห้ง และความต้องการทางเพศลดลง³

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เกิดการฝ่อและลดลงของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศบางลงปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นลง ร่วมกับเมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอยู่ในระดับที่ต่ำลงจะทำให้มีความสนใจหรือมีความต้องการทางเพศลดน้อยลง บางรายรุนแรงจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในครอบครัวหรือชีวิตคู่ได้

ทั้งนี้ ผู้หญิงจำนวน 1 ใน 3 บางคนอาจไม่มีอาการอะไร หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อยและมีอาการอยู่ไม่นาน แต่ในผู้หญิงบางคนอาจมีอาการรุนแรงมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ซึ่งกรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณาเรื่องการรับฮอร์โมนทดแทน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ไม่อยากเป็นวัยทองเจ้าอารมณ์ มาเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้⁴

ในเมื่อเราไม่อาจหยุดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ แต่เราสามารถชะลอ หรือลดอาการข้างเคียงจากวัยทองได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1. รับรู้ว่าช่วงวัยของเรานั้น มาถึงช่วงวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทองแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับวัยทอง เราต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลร่างกายเป็นพิเศษ และพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำร้ายสุขภาพ ได้แก่ การงดสูบบุหรี่และลดดื่มแอลกอฮอล์
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สำหรับคนที่อยู่ในช่วงใกล้วัยทอง ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภทถั่ว งา ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อย นม และเต้าหู้ เพื่อเป็นการบำรุงกระดูก รวมถึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่อีกด้วย
4. ออกกำลังสม่ำเสมอ อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายมีความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่วัยทอง คือการออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที โดยควรเลือกการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การแอโรบิก เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป
5. พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากอาการของวัยทอง ที่มักจะเครียดง่าย อารมณ์แปรปรวน จึงควรต้องหากิจกรรมที่บรรเทาความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือว่าปลูกต้นไม้ อีกทั้งยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ
6. ในกรณีที่รู้สึกว่าช่วงวัยทองเป็นช่วงที่รบกวนชีวิตประจำวัน ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา เช่น การใช้ฮอร์โมน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม

บำบัดวัยทองด้วยฮอร์โมนทดแทน⁵

เมื่อเช็กอาการวัยทองเรียบร้อยแล้ว พบว่าร่างกายเริ่มขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถบำบัดและปรับสมดุลฮอร์โมนได้อย่างปลอดภัย ด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทนนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาการรักษาโดยแพทย์ ผู้หญิงวัยทองที่จะรับฮอร์โมนทดแทนจึงต้องผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้นก่อน ว่ามีความเสี่ยงด้านใดบ้าง

อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยทอง และถ้าอาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรมาปรึกษาและตรวจสุขภาพวัยทองกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่เนิ่น ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่วัยทองอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เรียบเรียงโดย : รศ. พญ.สุชาดา อินทวิวัฒน์
รองหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาฝ่ายบริการ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เอกสารอ้างอิง:
1. World Health Organization. (2022, October). Menopause. WHO. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/menopause. accessed October 16, 2024
2. McQuilkie, S. (2020, July 21). Mennopause stages: Exploring the 3 stages of menopause. MenopauseLiving.Today. https://menopauseliving.today/understanding-menopause/menopause-stages accessed October 16, 2024
3. Monteleone, P. (2018). Nature reviews. Endocrinology, 14(4), 199–215.
4. SIPH. (2022, August). เช็กอาการเข้าข่าย “วัยทอง” หรือยัง? Siphhospital.com. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/577
5. Peacock, K. (2023). Menopause. StatPearls Publishing.

NP-TH-NA-WCNT-240026

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว