line
เมนู
รู้แล้วยัง

รักษาสุขภาพอย่างไรในช่วงฤดูกาลฝุ่น PM 2.5

7 ข้อต้องรู้ รับมือการกลับมาของฝุ่นพิษตัวร้าย
แชร์บทความนี้
line
line
line

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก Particulate Matter หรือเรียกโดยย่อว่า PM ที่ทุกคนคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดีนั้น คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีส่วนประกอบหลากหลายที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ โดยที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กมาจากการเผาไหม้ เช่น การจราจร การเผาในที่โล่ง ไฟไหม้ป่า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ในประเทศไทยอาจมาจากหมอกควันข้ามแดนก็ได้เช่นกัน

ตัวอย่างสำคัญของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีความสำคัญทางการแพทย์ได้แก่ PM 10 ซึ่งหมายถึงฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคขนาดไม่เกิน 10 ไมโครเมตร และ PM 2.5 คือฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร ทั้งนี้เพราะ PM 10 คือฝุ่นที่ถูกหายใจเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของคนได้ และ PM 2.5 คือฝุ่นขนาดเล็กที่ลงสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมและปอดได้ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว PM 2.5 ทำให้เกิดผลต่อสุขภาพได้รุนแรงกว่า PM 10 เพราะ PM 2.5 มีองค์ประกอบที่เป็นสารเคมีที่อันตรายมากกว่า และสามารถแทรกซึมเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้มากกว่า

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศมักสูงขึ้นในลักษณะที่เป็นฤดูกาล โดยรูปแบบที่เห็นได้บ่อยในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือระดับฝุ่นละอองสูงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ในแต่ละปี ซึ่งสะท้อนได้จากดัชนีคุณภาพอากาศ ที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี ต้นเหตุของรูปแบบนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางความกดอากาศในช่วงเดือนนั้นๆ ของปี

มากไปกว่านั้นการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการเหล่านี้มากขึ้น อาการที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้

  • เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการและความเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจในผู้สูงอายุ เช่น คันจมูก แสบจมูก จาม มีน้ำมูกมากขึ้น เจ็บคอ มีเสมหะมากขึ้น เสียงแหบ หายใจลำบาก ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่นโรคหอบหืด และหลอดลมอักเสบ มีโอกาสติดเชื้อในทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น เช่น เป็นหวัดไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ
  • ผู้สูงอายุมักมีอาการแสบตา เคืองตา ตาแดง
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติในระบบหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุ เช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการอัมพฤกษ์อัมพาตได้
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ทั้งที่เกิดจากหลอดเลือดสมองและโรคอัลไซเมอร์
  • ผู้สูงอายุมักเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะไตวายเรื้อรังมากขึ้น
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอักเสบผื่นคันที่ผิวหนัง ทำให้อาการเจ็บป่วยของโรคผิวหนังต่างๆ ในผู้สูงอายุมีอาการบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น

7 คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้สูงอายุในช่วงที่มีมลภาวะฝุ่น PM 2.5 สูง มีดังนี้

1. ติดตามข้อมูลเรื่องดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) จากแหล่งข้อมูล เช่น แอปพลิเคชั่น โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุใช้แหล่งข้อมูลที่ให้ข้อมูลแบบ real-time โดยค่า AQI ที่ไม่เกิน 50 บ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศปกติดี ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือนอกอาคารได้ตามปกติ

2. ให้ผู้สูงอายุหมั่นคอยสังเกตอาการของร่างกายตนเอง ว่ามีอาการระคายเคืองที่ตา ทางเดินหายใจและผิวหนังที่เกิดจากฝุ่นหรือไม่ หากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็กยังมากอยู่ จึงควรลดการสัมผัสฝุ่นให้ครอบคลุมทุกช่องทางให้มากที่สุด หากผู้สูงอายุมีอาการระคายเคืองจมูกและคอ อาจดูแลตัวเองได้ง่ายๆ โดยการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือที่สะอาด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

3. ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นในช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศไม่ดี โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกตัวอาคารหากไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องออกนอกตัวอาคาร ผู้สูงอายุควรใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้

4. ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วงเวลาที่คุณภาพอากาศไม่ดี เพราะร่างกายของคนเรา มีการหายใจมากขึ้นในระหว่างที่ออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีการสัมผัสฝุ่นมากขึ้น แนะนำให้เลือกออกกำลังกายนอกตัวอาคารในช่วงที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดี หรือออกกำลังกายในห้องปลอดฝุ่นหากเป็นไปได้

5. ผู้สูงอายุควรลดการสัมผัสฝุ่นในพื้นที่ในตัวอาคาร ด้วยวิธีห้องปลอดฝุ่น คือห้องที่ปิดประตูหน้าต่างและช่องทางต่างๆ โดยมิดชิด ไม่ให้มีอากาศจากภายนอกรั่วไหลเข้ามาในห้องได้ โดยอาจใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศในอาคารหมุนเวียนได้ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในห้อง เช่น การจุดธูปหรือเทียน การสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน และใช้เครื่องกรองอากาศเพื่อลดระดับฝุ่นในตัวอาคาร

6. รักษาสุขภาพตามปกติ ได้แก่การดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การพยายามออกกำลังกายอย่างเพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยอาจเน้นการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การมีสุขภาพดีในผู้สูงอายุที่ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

7. หน้ากากชนิดที่สามารถป้องกันการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก คือ หน้ากาก N95 ซึ่งผู้สูงอายุที่ใช้หน้ากากต้องใส่หน้ากากให้แนบติดกับผิวหนังตามขอบหน้ากากด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลในระหว่างที่หายใจ

เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เอกสารอ้างอิง กรมควบคุมโรค. (2564, พฤศจิกายน, 8). คู่มือเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยที่คุกคามสุขภาพ จากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5). 1202520211213111057.pdf (moph.go.th)

NP-TH-NA-WCNT-230020

GSK ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของท่านและเราให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลของท่านด้วยความระมัดระวัง
หากท่านต้องการทราบถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เราเก็บ และวิธีการที่เราเก็บข้อมูลเหล่านั้น ท่านสามารถศึกษาได้จาก ประกาศเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว